Friday, May 1, 2009

4.การเดาคำศัพท์ด้วยการวิเคราะห์ส่วนขยาย (Modifier type)

บางครั้งผู้อ่านก็สามารถตีความหมายของคำศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยได้ด้วยการวิเคราะห์ส่วนส่วนขยาย (modifier) ที่ปรากฏอยู่ในข้อความแวดล้อมนั้น ๆ ส่วนขยายที่ปรากฏโดยมากมักจะมีคำขึ้นต้น เช่น who, which, where, that, with, with out หรือวลี (phrase) ที่ขึ้นต้นด้วย verb+ing หรืออาจจะขึ้นต้นด้วย verb ช่อง 3 ตามติดคำศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยนั้นมา ซึ่งผู้อ่านสามารถตีความหมายของศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยนั้นได้ทันทีจากส่วนขยายที่บ่งบอกเพิ่มเติมไว้นี้


ตัวอย่างที่ 1

Mr. Brown is an anarchist, who think that all governments are bad.
อธิบาย anarchist เป็นศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย

who เป็นคำชี้แนะการเริ่มต้นของส่วนขยาย

a person who think that all governments are bad เ

ป็นความหมายของศัพท์ไม่คุ้นเคยที่พบอยู่ในส่วนขยาย

ดังนั้น anarchist ก็คือ บุคคลที่คิดว่ารัฐบาลทุกแห่งเป็นรัฐบาลที่เลว


ตัวอย่างที่ 2

Nylon and polyester are synthetic fibers made by man.
อธิบาย synthetic เป็นศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย

made เป็นกริยาช่อง 3 แสดงส่วนขยาย ซึ่งหมายความว่า

that are made fibers that are made by man เป็นความหมายของศัพท์ไม่คุ้นเคยที่พบอยู่ในส่วนขยาย

synthetic fiber ก็คือ เส้นใยที่สังเคราะห์ขึ้นโดยมนุษย์

ดังนั้น synthetic จึงแปลได้ว่า สังเคราะห์


ตัวอย่างที่ 3

John is a member of an anarchist community where there are no leaders.
อธิบาย anarchist community เป็นศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย

where เป็นคำชี้แนะการเริ่มต้นของส่วนขยาย

a community without any leaders เป็นความหมายของศัพท์ไม่คุ้นเคยที่พบอยู่ในส่วนขยาย ดังนั้น

anarchist community ก็คือ ชุมชนที่ไร้ผู้นำ

3. การเดาคำศัพท์โดยดูจากเนื้อความหรือข้อความที่อยู่รอบ ๆ คำนั้น (context)

ขั้นตอนในการเดาคำศัพท์โดยใช้เนื้อความรอบ ๆ หรือบริบท มีดังนี้

1. ดูประเภทของคำ (part of speech) ว่าเป็น noun, verb, adjective หรือ adverb เป็นต้น
2. พิจารณาความสัมพันธ์ของคำที่ไม่ทราบความหมายกับคำต่าง ๆ ในประโยคนั้น เช่น ถ้าคำที่ไม่ทราบเป็น noun ลองดูว่ามีคำ adjective ขยายบ้างไหม หรือมี verb ตัวใดเกี่ยวข้องกับ noun นั้นบ้าง หรือถ้าคำนั้นเป็น verb ก็ดูความสัมพันธ์กับ noun ใดบ้าง และมี verb ขยายหรือไม่

3.พิจารณาความสัมพันธ์ของข้อความหรือประโยคที่มีคำซึ่งไม่ทราบความหมายนั้นกับข้อความ หรือ ประโยคอื่น ๆ บางครั้งความสัมพันธ์ของประโยคเหล่านี้อาจมีคำเชื่อม เช่น but, because, like, i.e.ให้เห็นชัดเจนแต่บางครั้งเมื่อไม่มีอาจต้องพิจารณาความสัมพันธ์เอาเองว่า มันเป็นข้อความที่เป็นเหตุเป็นผลกัน หรือคล้อยตามกัน หรือขัดแย้งกัน เป็นต้น

4. ใช้ข้อมูลที่ได้จากข้อ 1-3 มาพิจารณาความหมายของคำศัพท์นั้น

5. เมื่อได้ความหมายแล้ว ควรตรวจสอบทบทวนอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าความหมายนั้นใกล้เคียงความจริงที่สุด ด้วยการทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

5.1 ดูว่าคำหรือข้อความที่เดาได้นั้นเป็นคำประเภทเดียวกับคำศัพท์ตัวนั้นหรือเปล่า เช่น เป็น noun, verb เหมือนกันหรือเปล่า ถ้าไม่เหมือนกันแสดงว่าคงต้องมีอะไรผิดสักอย่าง

5.2 ให้ลองแทนคำศัพท์นั้นด้วยคำที่เดามาได้ถ้าทำให้ประโยคนั้นมีความหมาย ดีแสดงว่า คำที่เดามาได้คงจะใช้ได้แล้ว ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้เพื่อฝึกขั้นตอนในการเดาความหมายของคำศัพท์
ตัวอย่าง
This butter was out of the refrigerator too long; it smells bad and must be rancid.
สมมติคำว่า rancid คือศัพท์ตัวที่ไม่ทราบความหมาย ลองฝึกการเดาตามขั้นตอน ดังนี้

1. ดูประเภทของคำ rancid เป็นคำ adjective เพราะตามหลัง verb to be

2. ดูว่าเกี่ยวข้องกับคำอื่น ๆ ในประโยคอย่างไร ในที่นี้ rancid เป็นคำ adjective บอกสภาพของเนย (butter)

3. ดูความสัมพันธ์ของข้อความที่สอง (it smells bad and must be ancid) กับข้อความแรก (This butter was out of refrigerator too long) ทั้งสองข้อความไม่มีตัวเชื่อมให้เห็นชัดเจน แต่ดูจากความหมายรอบ ๆ ได้ว่า เป็นเหตุเป็นผลกัน เพราะเมื่อนำเนยออกจากตู้เย็นนาน ๆ ผลคือมันจะมีกลิ่นไม่ดีและต้อง rancid

4. เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วลองเดาความหมายดูในขั้นตอนนี้บางครั้ง อาจใช้ประสบการณ์ช่วยด้วยก็ได้ ลองคิดดูว่าเมื่อเนยอยู่นอกตู้เย็นนาน ๆ นอกจากมันจะอ่อนตัวลง ยังมีกลิ่นไม่ดีแล้วจะบูด เน่า หรือเสียในที่สุด ดังนั้น rancid น่าจะมีความหมายเท่ากับ บูด เสีย หรือ bad, spoiled นั่นเอง

5. ตรวจสอบความหมายที่ได้

5.1 ดูประเภทของคำ คำที่เดาได้ว่า bad หรือ spoiled เป็นคำ adjective เช่นเดียวกับ rancid

5.2 ลองแทนคำว่า rancid ด้วย bad หรือ spoiled ความหมายที่ออก จะได้ว่า

.....it smells bad and must be bad or spoiled คือเนยที่อยู่นอกตู้เย็นนาน ๆ จะมีกลิ่นไม่ดีและบูดเสีย ความหมายก็ใช้ได้ดี ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า ความหมายที่เดาได้นี้ น่าจะดีที่สุด เมื่อลองตรวจสอบจากพจนานุกรมอีกที คำว่า rancid มีความหมายว่า decaying fat and butter; having gone bad นับว่าความหมายที่เดาได้นั้นใกล้เคียงที่สุดแล้ว
------------------------------------------------------------

2. การเดาคำศัพท์โดยดูจากเครื่องหมายวรรคตอน (Punctuation)

1. เครื่องหมาย , (comma)
2. เครื่องหมาย -- (dash)
3. เครื่องหมาย : (colon)
4. เครื่องหมาย ( ) (parentheses)

คำหรือข้อความที่อยู่หลังเครื่องหมายตามข้อ 1 - 3 หรืออยู่ในวงเล็บ ตามข้อ 4 บอกความหมายหรือให้ตัวอย่างคำหรือข้อความที่อยู่ข้างหน้า
ตัวอย่างที่ 1
Deglutition, or swallowing, moves food from the mouth to the stomach. ประโยคนี้ข้อความที่ตามหลังเครื่องหมาย , (comma) จะอธิบายคำที่มาข้างหน้า คือ Deglutition ว่ามีความหมายเดียวกับ swallowing (กลืน)
สำหรับประโยคนี้ อาจสังเกตตัวแนะ ", or" ร่วมด้วยก็ได้ว่า คำที่มาข้างหน้า ", or" จะมีความหมายใกล้เคียงกับคำที่ตามมาหลัง
ดังนั้นสรุปได้ว่า Deglutition คือ swallowing (กลืน) นั่นเอง

ตัวอย่างที่ 2
Are you averse --opposed to the court decision.
ประโยคนี้ข้อความที่ตามหลังเครื่องหมาย --(dash)
จะอธิบายคำที่มาข้างหน้า คือ averse
ดังนั้นพอจะสรุปได้ว่า averse คือ opposed หรือ ต่อต้าน หรือตรงข้ามนั้นเอง

ตัวอย่างที่ 3
Cleaning up waterways is an enormous task: the job is so large, in fact, that the government may not be able to save some of the rivers and lakes which have been polluted.
ประโยคนี้เมื่อเห็นเครื่องหมาย : (colon) ผู้อ่านจะทราบความสัมพันธ์ของ ทั้งสองข้อความทันทีว่า สิ่งที่มาข้างหน้าจะมีความหมายใกล้เคียงหรือเท่ากับสิ่งที่ ตามมาข้างหลัง ดังนั้น enormous task ก็คือ the job (that) is so large (งานใหญ่) นั่นเอง

ตัวอย่างที่ 4
Catching crooks with pilfered items is indeed difficult; thieves do not often hold on to the stolen goods.
คำว่า pilfered ในข้อความแรกควรจะมีความหมายใกล้เคียงกับคำในข้อความ ข้างหลัง pilfered items คือสิ่งของที่ถูก pilfered โดยโขมย (crooks) ก็ควรมี ความหมายเหมือนกับ stolen goods (ของที่โขมยมา) นั่นเอง
ดังนั้นสรุปได้ว่า pilfered คือ stolen

ตัวอย่างที่ 5
Here are several comments about the pros and cons (advantages and disadvantages) of buying a second-hand car from a dealer.
ในที่นี้มีคำในวงเล็บตามหลังคำว่า pros and cons ทำให้เดาได้ว่า pros น่าจะแปลว่า advantages ข้อดี และ cons คือ disadvantages ข้อเสียของการซื้อรถใช้แล้ว

1 การเดาคำศัพท์โดยดูจากคำเชื่อม...

1.การเดาความหมายของศัพท์

1.1 การเดาคำศัพท์โดยดูจากคำเชื่อมที่บอกคำจำกัดความหรือนิยาม(Definition)>>คลิก

1.2 การเดาคำศัพท์โดยดูจากคำเชื่อมที่แสดงการพูดซ้ำความหมาย(Renaming or estatement) >>คลิก

1.3 การเดาคำศัพท์โดยดูจากคำเชื่อมที่แสดงการเปรียบเทียบที่คล้ายคลึงกัน(Similarity) >>คลิก

1.4 การเดาคำศัพท์โดยดูจากคำเชื่อมที่แสดงความขัดแย้ง(Contrast and Concession) >>คลิก

1.5 การเดาคำศัพท์โดยดูจากคำเชื่อมที่แสดงตัวอย่าง (Examplification) >>คลิก

1.6 การเดาคำศัพท์โดยดูจากคำเชื่อมที่บอกการอธิบายสาเหตุ และความเป็นเหตุเป็นผล (Cause and Effect or Result) >>คลิก

แม่ไม้เพลงเดา ภาค: ศัพท์มหาโหด

แม่ไม้เพลงเดา ภาค: ศัพท์มหาโหด

อ. ศิริวรรณ ใยยะธรรม

“จะยากไปไหนเนี่ย ศัพท์ต๋อยอะไรก็ไม่รู้” “นี่ข้อสอบนักเรียนหรือปริญญาเอกเนี่ย” “ไปเอาศัพท์มาจากดิกเล่มไหน ไม่เห็นเคยเจอเลย”

คำพูดนี้มักพรั่งพรู (อยู่ในใจ) ขณะทำข้อสอบเสมอ ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่น เพราะปัญหาที่ทำให้นักเรียนหลายคนรู้สึกคับอกคับใจมานาน นั่นก็คือปัญหาเรื่อง “คำศัพท์” ที่ไม่รู้ว่าผู้ออกข้อสอบไปเปิดพจนานุกรมเล่มไหนมา หรือ นอนฝัน หรือไปขูดต้นไม้ได้มา ก็ไม่ทราบได้ คำศัพท์เหล่านั้นมักจะเป็นคำที่เราไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็น ไม่เคยเฉียด และไม่เคยอยากจะไปสนิทสนมด้วยเลยสักนิด และตอนนี้ คำศัพท์ ที่แสนยากนั้นก็มาปรากฎอยู่ตรงหน้าเราแล้ว และที่สำคัญมาอยู่ในข้อสอบซะด้วยซิ “แล้วฉันจะทำยังไงดี!!!!!!!!!”

แน่นอนที่สุด หากมองในมุมของผู้ออกข้อสอบ การที่อาจารย์เลือกที่จะใช้คำศัพท์ยากนั้นจุดมุ่งหมายสำคัญก็คือ ให้เราคับอกคับใจ แปลไม่ออก หาคำตอบไม่เจอ และ ทำไม่ได้ (และอาจารย์ก็ทำสำเร็จซะด้วย) เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว จะเรียกว่าเป็นข้อสอบได้อย่างไร จริงมั้ย…

แม้เราจะร้อนรุ่ม นั่งกลุ้มในห้องสอบแค่ไหน เราก็ไม่สามารถหาตัวช่วยได้ ไม่มีใครพกเอาพจนานุกรมเข้าห้องสอบได้ ไม่มีใครเอาอาจารย์เข้าไปเป็นตัวช่วยได้ เราไม่มีตัวแสดงแทนไม่มี จา พนม และ ไม่มีการเปลี่ยนคำถาม ดังนั้น ในขณะที่คำศัพท์นั้นเป็นสิ่งที่ยากเย็นแสนเข็ญสำหรับทุกคนแล้ว วิธีการทำข้อสอบที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับนักเรียนที่รักทุกคนก็คือ การเดา

การเดาไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย ทุกคนเคยผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะด้วยลีลาแม่ไม้การเดาแบบใดก็ตาม เช่น หมัดเมาจิ้มดะ หรือ เดชกากบาทสาปส่ง แต่หากจำเป็นที่จะต้องเดาจริงๆ แล้ว (เพราะจนปัญญา) แม้ไม้การเดาแบบที่ผ่านมาก็ควรจะเก็บไว้เป็นไม้เด็ดสุดท้าย แบบที่ชาตินี้ถ้าไม่ใช้วิธีนี้ ก็คงจะไม่มีวันทำข้อสอบเสร็จแน่นอน แล้วก็เกิดคำถามว่า “จะให้เดาด้วยอะไรล่ะ” แน่นอนที่สุด ทุกปัญหาย่อมมีทางแก้ไข อาจารย์ผู้ออกข้อสอบคงไม่ได้ออกข้อสอบด้วยศัพท์ยากๆ เพราะความซาดิสม์ เพื่อให้เรากลัดกลุ้ม นอนฝันร้าย หรือแค่ทำไม่ได้แน่นอน อาจารย์เพียงแค่ต้องการท้าทายความสามารถของเราก็เท่านั้น ว่าเราจะสามารถหาวิธีการมาจัดการกับเจ้าคำศัพท์ที่แสนโหดร้ายที่ท่านอาจารย์ได้พากเพียรหาขึ้นมาเป็นคำถามได้หรือไม่ เมื่อเราเริ่มเข้าใจเจตนาของอาจารย์ผู้ออกข้อสอบแบบนี้แล้ว ก็แสดงว่าต้องมีวิธีการเดาแบบมีหลักการอยู่แน่นอน ย้ำอีกครั้ง ต่อไปนี้เราจะใช้วิธีการเดาอย่างมีหลักการ (แม้จะเป็นหนึ่งในวิธีการเดาก็ตาม) แต่การเดาแบบมีหลักการนี้ มีโอกาสที่จะทำให้เราทราบความหมายที่แท้จริงของคำศัพท์เหล่านั้นได้มากกว่าจะหลับตาจิ้มมั่วมิใช่หรือ และถ้าเราสามารถถอดความหมายออกมาได้แล้ว การทำข้อสอบจะไม่ยากเกินกำลังเราอีกต่อไป

สำหรับด่านทดสอบคำศัพท์มหาโหดนี้ เรามักจะพบว่าอยู่ปะปนกับข้อสอบความเข้าใจในการอ่าน (Part Reading Comprehension) ซึ่งนับเป็นคะแนนค่อนข้างเยอะทีเดียว โดยดูจากสถิติการออกข้อสอบหลายปีที่ผ่านมา ข้อสอบตอนนี้มีจำนวนข้อเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนข้อสอบทั้งหมด หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นตอนที่ออกจำนวนข้อมากที่สุด อีกทั้งบางปี ยังมีการออกข้อสอบแบบวัดความรู้ด้านคำศัพท์โดยเฉพาะอีกด้วย เฮ้อ! แค่ฟังก็เหนื่อยแล้ว

เอาล่ะเมื่อถึงตอนนี้ก็ได้เวลาในการเปิดเผยวิธีการเดาแบบมีหลักการกันแล้ว ซึ่งวิธีการเดาคำศัพท์นี้มีอยู่ 2 วิธีใหญ่ๆ นั่นก็คือ

1. การเดาคำศัพท์ด้วยการใช้ปริบท (Context Clues) หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เดาจากประโยคหรือวลีที่อยู่รอบข้างคำยากนั่นเองการเดาคำศัพท์จากตัวคำศัพท์เอง ก็คือ

2. การดูจากส่วนประกอบของคำที่มีการสร้างสรรค์ เติมแต่งเข้าไปให้ดูเป็นคำยาวและยาก นั่นก็คือ ส่วนที่เป็น อุปสรรค (Prefix) และ ปัจจัย (Suffix)

การหาความหมายคำศัพท์จากปริบท (Context Clues) ประโยชน์ของปริบทนั้นก็คือ ช่วยให้เราสามารถเข้าใจคำศัพท์ได้โดยเร็ว และด้วยตนเอง (โดยไม่ต้องเสียเวลาแอบชะแว้บไปมองคนข้างๆ) นอกจากนี้ยังช่วยให้ทราบคำศัพท์ได้ตรงตามเนื้อเรื่องอีกด้วย ถ้าเราสังเกตดีๆ แล้วจะพบว่า บางคำศัพท์นั้นมีหลายความหมาย แม้จะเขียนเหมือนกันทุกตัวอักษร แต่กลับมีความหมายแตกต่างกันให้ช้ำใจ เช่นคำว่า capital ซึ่งความหมายทั่วๆ ไปก็คือ เมืองหลวง แต่คำนี้ก็ยังมีความหมายว่าเป็น ทุนเพื่อทำธุรกิจ ได้อีกด้วย ดังนั้นแล้วการใช้ปริบทเข้ามาช่วยเดาความหมายนั้น เป็นสิ่งสำคัญมากเลยทีเดียว

“แต่เอ๊ะ! แล้วเราจะดูได้จากอะไรบ้างล่ะ นี่ฉันจะต้องอ่านทั้งเรื่องเลยหรือเปล่าถึงจะรู้หรือเดาคำศัพท์ออก”

ความจริงแล้ว ไม่ต้องลงทุนทำกันถึงขนาดนั้นหรอก แค่มองจากประโยคหรือวลีรอบๆ คำยากนั้นก็น่าจะเพียงพอแล้ว ซึ่งก็จะมีตัวชี้แนะปะปนอยู่รายล้อมรอบคำนั้นนั่นเอง (ต้องใช้วิธีสังเกตดีๆ นะ) ทีนี้ลองมาทำข้อสอบกันดีกว่า แต่เราต้องอย่าลืมให้วิธีการเดาแบบมีหลักการด้วยนะ ตัวอย่างข้อสอบ 1 I want to buy a house in the city, but property prices in Bangkok are much higher than those in the provinces. 1. land 2. power 3. facilities 4. belongings (ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยปี 1/2544 มีนาคม)

ทีนี้เราลองมาใช้ปริบทช่วยในการหาความหมายของคำศัพท์ยากกันเถอะ ดูจากประโยคแล้วนั้น มีคำยากคือคำว่า property แต่คำศัพท์อื่นๆ ในประโยคเจ้าปัญหานั้นก็ไม่มีคำไหนที่ยากเกินความสามารถของเราเลย (จริงมั้ย)

ประโยคบอกว่า “ฉันต้องการซื้อบ้านในเมือง แต่ราคา property ในกรุงเทพ นั้นแพงกว่าที่อื่นมากๆ”

เมื่อเราได้ประโยคหลักออกมาแล้ว แต่ก็ยังมีก้างติดคอก็คือคำว่า property ซึ่งความจริงแล้วถ้าเราไม่คิดลึกมากจนเกินไป หรือตอนนั้นสมองขาดออกซิเจนจนไม่สามารถนึกอะไรออกได้ เราก็จะเดาคำศัพท์นี้ได้ว่า อะไรน้า…เมื่อคนที่จะซื้อบ้านต้องคำนึงถึงเป็นสิ่งสำคัญ และราคาก็ต้องสูงมากเลย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพ (ในที่นี้คงไม่มีใครคิดว่า property จะหมายถึง ลูกชิ้นปิ้ง ใช่มั้ย) พอเรากำหนดขอบเขตความหมายของคำศัพท์ได้แล้ว ก็จัดการตัดตัวเลือกที่ไม่เกี่ยวออกไป ซึ่งก็น่าจะได้คำตอบกันแล้วว่า เป็นข้อ………… 1. land ………… แต่บางคนคิดในมุมกลับกันว่าไม่รู้ความหมายของตัวเลือกอ่ะ จะทำยังไง (อันนี้ก็คงต้องแล้วแต่บุญแต่กรรมกันล่ะนะ อ๊ะ… ไม่ใช่) ไม่ต้องเดือดร้อนไป ถ้าไม่รู้ตัวไหนก็เก็บเอาไว้ก่อน ดูคำศัพท์ที่เราคุ้นเคยก่อน และถ้าคำนั้นดูเป็นคำตอบก็ตอบไปเลย ไม่ต้องเก็บเอาศัพท์เจ้าปัญหามาคิดให้ปวดหัว หรือเก็บกลับไปนอนฝันต่อที่บ้าน (แค่จะทำข้อสอบให้ทันเวลายังจะไม่ได้เลย ยังจะต้องมานั่งคิดอะไรให้มันเสียเซลล์สมอง) และคงไม่มีใครใจร้ายขนาดที่จะเอาตัวเลือกยากทั้งหมด มาให้เป็นตัวเลือกคำศัพท์ที่ยากอีกรอบนึงหรอก (สับสนจริงๆ) มันดูเป็นคนโหดร้ายไปหน่อย ดูอย่างข้อนี้ ก็เห็นชัดอยู่แล้วว่าคนที่ซื้อบ้านก็ต้องคิดถึงที่ดิน และเราก็มีข้อมูลอยู่แล้วว่า ที่ดินในกรุงเทพมันแพง เห็นมั้ย ง่ายจะตายไปเนอะ

ตัวอย่างข้อสอบ 2

This factory makes gimcrack furniture, which sells very cheaply and usually ends up as firewood! 1. well-polished 2. durable 3. badly-made 4. expensive (ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ปี 2/2545 ตุลาคม) ที่นี้มาดูโจทย์ข้อนี้บ้าง เค้าบอกว่า “โรงงานนี้ทำเฟอร์นิเจอร์เป็นแบบ gimcrack ซึ่งขายถูกมากๆ และก็จบลงด้วยการเป็นฟืน”

พอดูความหมายโดยรวมทั้งหมดแล้ว คงมีคนที่นึกออกแล้วแน่นอนว่าคำตอบจะต้องอะไร แต่อาจจะยังไม่มั่นใจในตัวเอง อย่างนั้นเราก็ลองมาวิเคราะห์กันหน่อยดีกว่า (แต่ในห้องสอบไม่ต้องมานั่งลังเลวิเคราะห์ไปวิเคราะห์มาให้มันปวดหัวนะ ไม่เช่นนั้นแล้ว ได้นั่งวิเคราะห์อนาคตตัวเองแทนแน่นอน คิดแค่พอประมาณให้ได้คำตอบก็พอแล้ว เข้าใจนะ!) คือถ้าคิดอย่างง่ายๆ ของราคาถูกมากๆ มันจะเป็นของดีมั้ย เสื้อราคา 199 กับเสื้อราคา 850 เป็นเนื้อผ้าแบบเดียวกันหรือเปล่า ของราคาถูกนะถ้าไม่ใช่ของที่มีต้นทุนน้อย ก็เป็นของมือสอง หรือไม่ก็เป็นของโละแล้ว มีตำหนิ หรืออะไรอีกมากมาย ใช่มั้ยล่ะ ก็เข้าทำนองของโจทย์อันนี้นี่แหละ และมีอีกอย่างหนึ่งที่โจทย์บอกไว้ก็คือ เอาไปเป็นฟืน ของที่จะเอาไปเป็นฟืนได้ก็ต้องเป็นของที่ไม่ได้ใช้แล้ว หรือเป็นของที่ไม่น่าเสียดายที่จะเอาไปเผา จริงเปล่า??? คงไม่มีใครหยิบเอาเครื่องลายครามของคุณแม่ที่มีราคา 100,000 บาทไปเผาไฟเล่นหรอก (ใครคิดได้ก็บ้าแล้ว)

คำตอบที่ได้ก็คงหนีไม่พ้นข้อที่………….3. badly-made……………. เพราะดูจากตัวเลือกที่เหลือแต่ละข้อก็ดูจะไม่ค่อยเข้าท่าซักเท่าไหร่ ความหมายไม่ได้เข้ากันเลยจริงๆ การหาความหมายของคำศัพท์จากส่วนประกอบของคำ นอกเหนือจากที่จะเดาจากปริบทแล้ว บางครั้งปัญหาที่เจอมันหนักหนาสาหัสกว่านั้น นั่นก็คือ ปริบทไม่สามารถช่วยอะไรเราได้เลย (ช่างเป็นเวรกรรมของเราจริงๆ) แต่อย่าเพิ่งท้อถอย หากพยายามจนสุดความสามารถแล้วจริงๆ ก็ยังหาความหมายของคำศัพท์ไม่ได้ ถึงตอนนี้ ลองเปลี่ยนวิธีการใช้ปริบท มาเป็นการเดาความหมายจากตัวคำศัพท์เองเลย คิดว่าหลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า Prefix, Suffix กันมาแล้ว แต่เรารู้จักมันมากแค่ไหน แล้วจะเอาไปใช้จริงๆ กันได้อย่างไร ถ้ายังสงสัยอยู่ล่ะก็ ลองดูต่อจากนี้ต่อไปกันเลย… อุปสรรค (Prefix) สำหรับ Prefix ซึ่งมีชื่อภาษาไทยว่า อุปสรรค (แหม! ใครช่างตั้ง ช่างบัญญัติขึ้นมา เหมือนรู้ว่ามันเป็นอุปสรรคสำหรับเราจริงๆ ) เป็นหน่วยคำเล็กๆ (มีความหมายเป็นของตัวเอง) ที่นำไปเติมหน้าคำศัพท์ที่มีอยู่แล้ว และ ทำให้ความหมายของคำศัพท์เดิมนั้นเปลี่ยนไปเล็กน้อย ตัวอย่างของ อุปสรรค (Prefix) (ขออนุญาตให้เป็นตัวอย่าง เพราะจะบอกให้ทั้งหมดมีหวัง 20 หน้าก็ไม่จบ) ได้แก่

1). unimportant แปลว่า ไม่สำคัญ เมื่อแยกคำออกมาจะได้คำว่า un- ซึ่งแปลว่า ไม่ important ซึ่งแปลว่า สำคัญ

2). international แปลว่า ระหว่างชาติ เมื่อแยกคำออกมาจะได้คำว่า inter- ซึ่งแปลว่า ระหว่าง national ซึ่งแปลว่า แห่งชาติ ปัจจัย (Suffix)

ปัจจัย (Suffix) ก็ไม่แตกต่างอะไรไปจาก อุปสรรค (Prefix) มากนัก เพราะเป็นคำเล็กๆ ที่มีความหมายเป็นของตัวเอง และสามารถเอาไปเติมคำศัพท์ได้ โดยที่ความหมายของคำศัพท์นั้นจะเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย สิ่งที่แตกต่างไปจาก อุปสรรค (Prefix) ก็คือ ปัจจัย (Suffix) นั้นจะเติมข้างหลังคำศัพท์นั่นเอง ตัวอย่างของ ปัจจัย (Suffix) ได้แก่

1). farmer แปลว่า ชาวนา (ตามที่เคยเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ) farm แปลว่า นา หรือ พื้นที่ซึ่งปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ไว้ - er แปลว่า บุคคล

แต่ความพิเศษของ ปัจจัย (Suffix) นั้นไม่ได้มีแค่จะทำให้ความหมายของคำศัพท์เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น แต่สิ่งที่พิเศษคือ การเติมเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพของคำศัพท์ อ๊ะ อ๊ะ งง เลย… ถ้าอย่างนั้นลองดูคำศัพท์กลุ่มนี้ซิ

1. good แปลว่า ดี (เป็นคำคุณศัพท์ หรือ adjective) goodness แปลว่า ความดี (เป็นคำนาม หรือ noun)
2. music แปลว่า ดนตรี (เป็นคำนาม หรือ noun) musical แปลว่า เกี่ยวกับดนตรี (เป็นคำ คุณศัพท์ หรือ adjective) musician แปลว่า นักดนตรี (เป็นคำนาม หรือ noun) ทีนี้จาก
2 ตัวอย่างที่ให้มา ก็จะเห็นสิ่งที่เพิ่มเติมต่อท้าย ซึ่งทำให้คำนั้นเปลี่ยนแปลงสถานภาพตัวเองไปเป็นอย่างอื่น คือ จากคำนาม เป็นคำคุณศัพท์ หรือบางครั้งก็เปลี่ยนเป็นคำกริยา ทั้งที่มีรากศัพท์ตัวเดียวกันเช่น
produce (v.) ผลิต
product (n.) ผลิตภัณฑ์
production (n.) การผลิต
producer (n.) ผู้ผลิต
productive (adj.) เกี่ยวกับการผลิต
เอาล่ะ เรามาลองทำข้อสอบกันเลยดีกว่า เดี๋ยวจะลืมซะก่อน สู้ตาย (แต่ห้ามตายก่อนสู้)
ตัวอย่างข้อสอบ
Nancy is the most maladroit person I know. If she’s not knocking something over, she’s *** something.
1. clumsy 2. punctual 3. honest 4. defensive
(ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย 2/2545 ตุลาคม)

หากแยกคำศัพท์เจ้าปัญหาออกมาดีๆ แล้ว จะได้คำว่า mal และ adroit ซึ่งถึงแม้ว่า เราจะไม่รู้จักคำว่า adroit (เพราะเกิดมาก็ไม่เคยเก็บคำนี้อยู่ในหัวสมอง หรือพบในแบบเรียนเล่มไหนเลย) แต่ถ้าเรารู้ว่า คำว่า mal แปลว่า ไม่ดี เราก็พอจะเดาได้นิดหนึ่งแล้วว่า คำนี้ต้องมีความหมายไปในทางที่ไม่ดี อีกทั้งเมื่อดูจากปริบทรอบข้างแล้ว ที่บอกว่า “ถ้าเธอไม่ชน (จน knock ไง) อะไรสักอย่าง ก็ต้อง หกล้มคะเมน” ก็ทำให้รู้ทันที่ว่า ยัยแนนซี่คนนี้ต้องมีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยน่าจะพิศมัยเท่าไหร่นัก และเมื่อมาเลือกจากตัวเลือกทั้งสี่แล้ว ก็สามารถตัดออกตัวเลือกที่มีความหมายดี ๆ ออกไปได้จนหมด ไม่ว่าจะเป็นคำว่า honest ซึ่งแปลว่า ซื่อสัตย์, punctual ซึ่งแปลว่า ตรงต่อเวลา, defensive (defend + sive (n.)) ซึ่งแปลว่า การป้องกัน จนในที่สุดก็เหลือคำสุดท้าย ที่บางคนอาจจะรู้จัก หรือไม่รู้จักก็ได้ แต่ในเมื่อเหลือข้อสุดท้ายแล้ว จะปล่อยให้ลอยนวลไปได้อย่างไร ก็เลือกเลือกไปเถอะ ( ถ้าไม่เลือกข้อนี้ จะไปเอาตัวเลือกของข้อที่แล้วมาตอบหรือไง) และคำตอบที่ถูกต้องก็คือข้อ



1. clumsy ที่แปลว่า ซุ่มซ่าม เงอะงะ นั่นแหละ เห็นไหมว่าไม่ยากอย่างที่คิดเลยใช่มั้ยล่ะ ที่นี้ เราลองมาอ่านเนื้อเรื่องบ้างดีกว่า

Depression isn’t just feeling down. It’s a real illness with real causes. Depression can be triggered by stressful life events, like divorce or a death in the family. Or it can appear suddenly, for no apparent reason. (ตัดตอนมาจากข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย 1/2546 มีนาคม)

จากตอนที่ยกมาให้นี้ จะเห็นว่า มีหลายคำที่เรายังไม่รู้ และมีหลายคำที่เกิดมาจากการนำ prefix และ suffix มาเติม แต่เราไม่เคยกลัวอยู่แล้ว เราต้องใช้การเดาแบบมีหลักการเข้าช่วยใช่ไหม…

ลองเดาซิว่า depressive แปลว่าอะไร ไม่ยากเลยใช่ไหมล่ะ เห็นนำเอา prefix ตัว de- มาเติมแบบนี้ แสดงว่าต้องเป็นความหมายที่ไม่ดีแน่นอนที่สุด เพราะ prefix คำนี้มีความหมายว่า ลง พอไปใส่ตัวไหนความหมายก็จะไม่ค่อยดีนัก และหากเราใช้ปริบทเข้าช่วยแล้ว ก็จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า depressive เป็นคำที่ความหมายไม่ดีเลย เพราะคำที่ตามมาแต่ละคำนั้นได้แก่ illness (ill + ness) ที่แปลว่า ความป่วยไข้ หรือ stressful (stress + ful) ที่แปลว่า ความเครียด และหากรู้แบบนี้แล้ว เราก็จะอ่านเนื้อเรื่องได้สบายใจมากขึ้น ไม่ต้องไปนั่งกังวลว่า มันแปลว่าอะไร ซึ่งคำว่า depressive นั้นแปลว่า ความเศร้าใจ หรือสภาพกดดันสุดๆ นั่นเอง (คาดว่าหลายคนก็น่าจะเดาออกนะ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องทราบว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนเรา และเป็นไปในทางที่ไม่ดีอย่างแน่นอน ใช่มั้ยล่ะ)

จากวิธีการเดาอย่างมีหลักการที่ได้นำเสนอไปให้ทั้ง 2 วิธีนั้น จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้นักเรียนที่รัก สามารถเดาความหมายของคำศัพท์มหาโหด ได้ใกล้เคียงกับความหมายจริงๆ มากที่สุด แม้ว่าเราจะต้องอ่านแบบไม่มีสิทธิ์เปิดพจนานุกรมก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นเพียงทางเลือกในการเดาเท่านั้น บางคนอาจจะมีความสามารถพิเศษ หรือ สามารถเดาได้เป็นชั้นเซียนชั้นเทพยิ่งกว่านี้ก็ได้ ใครจะไปรู้ แต่ที่รู้แน่ๆ คือ การจะเก่งได้นั้น ต้องขยันอ่าน และก็ฝึกฝนการใช้ภาษาอังกฤษในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางไวยากรณ์ หรือบทสนทนาก็ตาม ยังไงความแน่นอนก็ต้องดีกว่าต้องมานั่งคาดเดาเอาเองใช่มั้ย ดังนั้นก็ไม่ควรจะอาศัยแต่การเดาอย่างเดียวนะ เพราะจะมีใครอยากฝากอนาคตไว้กับการเดาบ้างล่ะ จริงมั้ย????

*******************************************************************

หนังสืออ้างอิง

ดวงฤดี กาญจนพันธุ์. เตรียม Ent’47 ภาษาอังกฤษ. กรุงเทพ: ภูมิบัณฑิต.

มนตรี ตั้งพิจัยกุล. ศัพท์อังกฤษสำหรับเอนทรานซ์. กรุงเทพ: เดอะบุคส์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

อ. ศิริวรรณ ใยยะธรรม >>http://www.nisit.org/


-----------------------------------------

เทคนิคการเดาความหมายของศัพท์

เว็บที่สอนเทคนิคการเดาความหมายของศัพท์ที่เราพบเมื่ออ่านภาษาอังกฤษ

(1) การเดาความหมายของศัพท์
1.1 การเดาคำศัพท์โดยดูจากคำเชื่อมที่บอกคำจำกัดความหรือนิยาม (Definition) >>คลิก
1.2 การเดาคำศัพท์โดยดูจากคำเชื่อมที่แสดงการพูดซ้ำความหมาย(Renaming or Restatement) >>คลิก
1.3 การเดาคำศัพท์โดยดูจากคำเชื่อมที่แสดงการเปรียบเทียบที่คล้ายคลึงกัน(Similarity) >>คลิก
1.4 การเดาคำศัพท์โดยดูจากคำเชื่อมที่แสดงความขัดแย้ง(Contrast and Concession) คลิก
1.5 การเดาคำศัพท์โดยดูจากคำเชื่อมที่แสดงตัวอย่าง (Examplification) >>คลิก
1.6 การเดาคำศัพท์โดยดูจากคำเชื่อมที่บอกการอธิบายสาเหตุ และความเป็นเหตุเป็นผล (Cause and Effect or Result) >>คลิก

2. การเดาคำศัพท์โดยดูจากเครื่องหมายวรรคตอน (Punctuation) >>คลิก
3. การเดาคำศัพท์โดยดูจากเนื้อความหรือข้อความที่อยู่รอบ ๆ คำนั้น (context) >>คลิก
4.การเดาคำศัพท์ด้วยการวิเคราะห์ส่วนขยาย (Modifier type) >>คลิก

Source From Phipat Enlish4Thai
>>http://english-for-thais.blogspot.com/2008/04/179.html